วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เนื้อเยื่อของพืชดอก


หน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่แสดงสมบัติของชีวิตได้คือ เซลล์ (Cell)
เซลล์ที่มีรูปร่างลักษณะเหมือน ๆ กัน ทำหน้าที่อย่างเดียวกันคือเนื้อเยื่อ (Tissue) เนื้อเยื่อ
หลาย ๆ ชนิดร่วมกันทำงานทำให้เกิด อวัยวะ (Organ) อวัยวะหลาย ๆ อย่างร่วมกัน
ทำงานเกิดเป็นระบบอวัยวะ (Organ system) นั่นหมายถึงสัตว์เป็นส่วนใหญ่แต่สำหรับ
พืชมีลักษณะที่แตกต่างจากสัตว์ออกไปตั้งแต่ระดับเซลล์ ไม่ว่าจะเป็นผนังเซลล์
แวคิวโอล คลอโรพลาสต์ ซึ่งไม่พบในสัตว์ ส่วนในระดับเนื้อเยื่อของพืชยิ่งมีความ
แตกต่างจากเนื้อเยื่อของสัตว์ออกไปอีก


ภาพที่ 1-1 แสดงองค์ประกอบพื้นฐานภายในของเซลล์พืช (Hiroshima University,
2003-2004)
ที่มา : http://home.hiroshima-u.ac.jp/er/ES_P.html



เนื้อเยื่อของพืชดอก 

เนื้อเยื่อของพืชชั้นสูง (Plant tissue) หรือเนื้อเยื่อของพืชดอก แบ่งตาม
ความสามารถในการแบ่งเซลล์ได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. เนื้อเยื่อเจริญ (Meristematic tissue หรือ Meristem)
(คำว่า Meristem มาจากภาษากรีก Meristos แปลว่า แบ่งได้) เนื้อเยื่อเจริญ
หมายถึงเนื้อเยื่อที่มีเซลล์กำลังแบ่งตัวแบบไมโทซิส (Mitosis) เพื่อสร้างเซลล์ใหม่พบ
มากตามบริเวณปลายยอดหรือปลายราก ลักษณะเด่นของเซลล์ที่อยู่ในกลุ่มเนื้อเยื่อเจริญ
คือ เซลล์ยังมีชีวิตอยู่ มีโพรโทพลาซึมที่ข้นมาก ผนังเซลล์ (Cell wall) บางและมักเป็น
สารประกอบเซลลูโลสเป็นส่วนใหญ่ ภายในเซลล์ เห็นนิวเคลียสได้ชัดเจนและมีขนาด
ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับไซโทพลาซึม มีแวคิวโอล ขนาดเล็กหรือเกือบไม่มี
แวคิวโอล เซลล์มีรูปร่างแตกต่างกันหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่รูปร่างค่อนข้างกลม หรือมี
ลักษณะหลายเหลี่ยม ทุกเซลล์แบ่งตัวได้ แต่ละเซลล์อยู่ชิดติดกันมากทำให้ช่องว่าง
ระหว่างเซลล์ (Intercellular space) แทบจะไม่มี หรือไม่มีเลย เซลล์ของเนื้อเยื่อเจริญ
ยังมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่ต่าง ๆ

การเจริญเติบโตที่เกิดจากเนื้อเยื่อเจริญมี 2 แบบ คือ การเจริญเติบโตขั้นแรก
(Primary growth) และการเจริญเติบโตขั้นที่สอง (Secondary growth) การเจริญเติบโต
ขั้นแรกจะทำให้รากและลำต้นมีความยาวเพิ่มขึ้น การเจริญเติบโตขั้นที่สอง จะทำให้พืช
มีความกว้างเพิ่มขึ้น เนื้อเยื่อเจริญแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

- เนื้อเยื่อเจริญส่วนปลาย (Apical meristem)
เนื้อเยื่อเจริญส่วนปลาย หรือเอพิคอลเมอริสเต็ม เป็นเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่บริเวณ
ปลายยอดหรือปลายราก รวมทั้งที่ตา (Bud) ของลำต้นของพืชเมื่อแบ่งเซลล์แล้วทำให้
ปลายยอดหรือปลายรากยืดยาวออกไป


ภาพที่ 1-2 แสดงเนื้อเยื่อเจริญบริเวณปลายยอดตัดตามยาว
(University of Illinois, 2006)
ที่มา : http://www.uic.edu/classes/bios/bios100/lectf03am/meristem.jpg





ภาพที่ 1-3 แสดงเนื้อเยื่อเจริญบริเวณปลายราก (Arizona State University, 2006)
ที่มา : http://trc.ucdavis.edu/biosci10v/bis10v/week8/07roots.html




เนื้อเยื่อเจริญเหนือข้อ (Intercalary meristem)
เนื้อเยื่อเจริญเหนือข้อเป็นเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่เหนือโคนปล้อง (Internode) หรือ
เหนือข้อ (Node) ทำให้ปล้องยืดยาวขึ้น พบได้ในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวบางชนิด เช่น หญ้า
ข้าว ข้าวโพด ไผ่ อ้อย เป็นต้น





ภาพที่ 1-4 แสดงข้อ (Nodes) และปล้อง (Internodes) ของต้นไผ่


เนื้อเยื่อเจริญด้านข้าง (Lateral meristem)
เนื้อเยื่อเจริญด้านข้าง เป็นเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่ทางด้านข้างของรากหรือลำต้น
ทำการแบ่งตัวทำให้เพิ่มขนาดของรากหรือลำต้น เนื้อเยื่อเจริญด้านข้างทำให้เกิด
การเจริญขั้นที่สอง พบในพืชใบเลี้ยงคู่ทั่ว ๆไป และพืชใบเลี้ยงเดี่ยวบางชนิด เช่น
จันทน์ผา หมากผู้หมากเมีย เป็นต้น เนื้อเยื่อเจริญชนิดนี้เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า
แคมเบียม (Cambium) ถ้าเป็นเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่ในกลุ่มของท่อลำเลียง เรียกว่า
วาสคิวลาร์แคมเบียม (Vascular cambium) หากเนื้อเยื่อเจริญนั้นอยู่ถัดจากเนื้อเยื่อ
ชั้นนอก ของรากหรือลำต้นเข้าไปข้างในเรียกว่า คอร์กแคมเบียม (Cork cambium)


ภาพที่ 1-5 แสดงเนื้อเยื่อเจริญด้านข้าง (The American Phytopathological Society,
1994-2007)
ที่มา : http://www.apsnet.org/Education/IllustratedGlossary/PhotosN-R/
phellogen.jpg

เนื้อเยื่อถาวร

เนื้อเยื่อถาวร (Permanent tissue)
เนื้อเยื่อถาวรเป็นกลุ่มเซลล์ที่มีรูปร่างและหน้าที่แตกต่างกันไป แยกออกเป็น
กลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภทตามหน้าที่ดังนี้


 เนื้อเยื่อถาวรเชิงเดี่ยว (Simple permanent tissue)
เนื้อเยื่อถาวรเชิงเดี่ยว เป็นกลุ่มเซลล์ที่ประกอบด้วยเซลล์ชนิดเดียวกัน ทำหน้าที่
อย่างเดียวกันแบ่งออกเป็นชนิดต่าง ๆ ตามหน้าที่ได้ 2 ประเภท ดังนี้


เนื้อเยื่อป้องกัน

เนื้อเยื่อป้องกัน (Protective tissue) แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1) เอพิเดอร์มิส (Epidermis) คือเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านนอกสุดของ
ส่วนต่าง ๆ ของพืช มักเรียงตัวชั้นเดียว ผนังเซลล์บาง ไม่มีคลอโรพลาสต์ เซลล์มี
ลักษณะแบน มีแวคิวโอลขนาดใหญ่ เซลล์เรียงตัวอัดแน่นจนไม่มีช่องว่างระหว่างเซลล์
ผนังเซลล์ที่อยู่ด้านนอกมักหนากว่าผนังเซลล์ที่อยู่ด้านใน มี คิวทิน (Cutin) เคลือบ
ผนังเซลล์มีการเจริญเปลี่ยนแปลงไปเป็นขนราก (Root hair) เซลล์คุม (Guard cell)
ขน (Trichome) และ ต่อม (Gland) เนื้อเยื่อเอพิเดอร์มิสทำหน้าที่ปกคลุมและป้องกัน
อันตรายให้แก่พืช


ภาพที่ 1-6 แสดงเนื้อเยื่อป้องกัน เอพิเดอร์มิส (University of Illinois, 2006)
ที่มา : http://www.uic.edu/classes/bios/bios100/lectf03am/lect18.htm





2) คอร์ก (Cork) หรือ เฟลเลม (Phellem) เป็นเนื้อเยื่อที่เกิดจาก
การแบ่งเซลล์แบบไมโทซิสของ คอร์ก แคมเบียม หรือ เฟลโลเจน (Phellogen) โดยเมื่อ
คอร์ก เติบโตเต็มที่แล้วโพรโทพลาซึม และเยื่อหุ้มเซลล์จะสลายไป เหลือเฉพาะ
ผนังเซลล์ที่มี ซูเบอริน (Suberin) และ คิวติน (Cutin) สะสมซึ่งน้ำจะผ่านไม่ได้


ภาพที่ 1-7 แสดง คอร์ก (University of Hamburg, 2006)
ที่มา : http://www.biologie.uni-hamburg.de/b-online/library/webb/
BOT410/410Labs/LabsHTML-99/Stems-2/Image315.jpg

เนื้อเยื่อพื้น

           เนื้อเยื่อพื้น (Ground tissue) เป็นเนื้อเยื่อที่เป็นองค์ประกอบ
ในราก ลำต้น ใบ ดอก เป็นตัวกลาง ให้เนื้อเยื่ออื่นเจริญแทรกตัวอยู่ มีหลายประเภท
ได้แก่

1) พาเรงคิมา (Parenchyma) เนื้อเยื่อชนิดนี้พบได้ทั่ว ๆ ไปในพืช
ประกอบด้วยเซลล์ที่มีรูปร่างหลายแบบได้แก่ ค่อนข้างกลม รี หรือรูปทรงกระบอก
เมื่อเรียงตัวติดกัน จึงเกิดช่องว่างระหว่างเซลล์ (Intercellular space) มีแวคิวโอล
ขนาดใหญ่เกือบเต็มเซลล์ เซลล์พาเรงคิมาบางชนิดมีคลอโรพลาสต์อยู่ด้วย อาจเรียกว่า
คลอเรงคิมา (Chlorenchyma) (อย่าสับสนกับคอลเลงคิมา) ผนังเซลล์ประกอบด้วย
เซลลูโลส (Cellulose) เป็นส่วนใหญ่ อาจมี เฮมิเซลลูโลส (Hemicellulose) และ เพกติน
(Pectin) บ้าง เนื้อเยื่อพาเรงคิมามีหน้าที่เก็บสะสมเม็ดแป้ง หยดน้ำมัน น้ำ เกลือแร่ และ
หลั่งสารพวกแทนนิน ฮอร์โมน เอนไซม์ และน้ำหวานของดอกไม้


ภาพที่ 1-8 แสดงพาเรงคิมา (Pearson Prentice Hall School, 2006)
ที่มา : http://www.phschool.com/science/biology_place/biocoach/
images/plants/Trachves.gif



2) คอลเลงคิมา (Collenchyma) เนื้อเยื่อที่มีเซลล์คอลเลงคิมาจะมี
รูปร่างคล้ายคลึงกับพาเรงคิมา ผนังเซลล์ประกอบด้วยเซลลูโลส แต่ผนังเซลล์จะมี
ความหนาไม่เท่ากัน โดยส่วนที่หนามักจะอยู่ตามมุมเซลล์ ซึ่งมีเพกตินมากนอกเหนือไป
จากเซลลูโลส และเฮมิเซลลูโลส พบเนื้อเยื่อชนิดนี้อยู่ตามก้านใบ เส้นกลางใบและ
ในส่วน คอร์เทกซ์ (Cortex) (คอร์เท็กซ์เป็นชั้นของเนื้อเยื่อที่อยู่ถัดจากชั้นเอพิเดอร์มิส
เข้าไปทั้งในลำต้น และรากซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในเรื่องของรากและลำต้น)
ของพืชล้มลุก มีหน้าที่ทำความแข็งแรงให้กับพืช


ภาพที่ 1-9 แสดงคอลเลงคิมา (Simmons, K., 2004)
ที่มา : http://kentsimmons.uwinnipeg.ca/2153/lb1pg5.htm



3) สเกลอเรงคิมา (Sclerenchyma) เนื้อเยื่อชนิดนี้ประกอบด้วยเซลล์ที่
มีผนังหนามากมีผนังเซลล์ทั้งปฐมภูมิ (Primarycell wall) และ ผนังเซลล์ทุติยภูมิ
(Secondary cell wall) เพราะมีสารลิกนิน (Lignin) เคลือบผนังเซลล์ทุติยภูมิ (Secondary
cell wall) จึงเป็นส่วนที่ทำให้พืชมีความแข็งแรง สเกลอเรงคิมาประกอบด้วยเซลล์ 2
ชนิดคือ ไฟเบอร์ (Fiber) และ สเกลอรีด (Sclerid) ซึ่งแตกต่างกันที่รูปร่างของเซลล์
ไฟเบอร์เป็นเซลล์เรียวและยาว ส่วนสเกลอรีด เซลล์มีลักษณะสั้นกว่าและ
มีรูปร่างแตกต่างกัน พบได้ตามส่วนที่แข็งแรงของเปลือกไม้และเปลือกหุ้มเมล็ดหรือ
เนื้อผลไม้ที่สาก ๆ




ภาพที่ 1-10 แสดงสเกลอเรงคิมา (Arizona State University, 2006)
ที่มา : http://is.asu.edu/plb108/course/develop/growth/media/sclerenchyma.jpeg




4) เอนโดเดอร์มิส (Endodermis) เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านนอกของ
เนื้อเยื่อลำเลียงของราก เป็นเนื้อเยื่อที่มีเซลล์คล้ายพาเรงคิงมา แต่ที่ผนังเซลล์มีสาร
ลิกนินและซูเบอร์ลิน (Suberin) (ซึ่งเป็นสารพวกขี้ผึ้ง) มาพอกหนาเซลล์เรียงตัวกันแน่น
จนไม่มีช่องว่างระหว่างเซลล์



ภาพที่ 1-11 แสดงเอนโดเดอร์มิส (Farabee, M., No Date)
ที่มา : http://www.emc.maricopa.edu/faculty/farabee/BIOBK/waterflow.gif

เนื้อเยื่อถาวรเชิงซ้อน

              เนื้อเยื่อถาวรเชิงซ้อน (Complex permanent tissue) เป็นกลุ่มเซลล์ที่ประกอบด้วยเซลล์หลายชนิดอยู่
รวมกันและทำงานร่วมกันเป็น เนื้อเยื่อลำเลียง (Vascular tissue) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท
ดังนี้

ไซเลม (Xylem)
ไซเลม ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำและแร่ธาตุจากรากไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของพืช
ซึ่งเรียกว่า คอนดักชัน (Conduction) ไซเลมประกอบด้วยเซลล์ 4 ชนิดคือ

1) เซลล์พาเรงคิมา (Parenchyma) เป็นเซลล์ชนิดเดียวกับที่อยู่ในชั้น
คอร์เทกซ์และพิธ (Pith คือชั้นที่อยู่ใจกลางของรากพืชใบเลี้ยงเดี่ยว) เป็นเซลล์ที่อ่อนนุ่ม
ผนังบาง อมน้ำได้ดี ทำหน้าที่สะสมอาหารพวกแป้ง เซลล์พาเรงคิมานี้เรียกว่า
ไซเลมพาเรงคิมา (Xylem parenchyma)



ภาพที่ 1-12 แสดงไซเลม ชนิดพาเรงคิมา (Nature Publishing Group, 2006)
ที่มา : http://www.nature.com/nrm/journal/v5/n5/images/nrm1364-f1.jpg


2) ไฟเบอร์ (Fiber) เป็นเซลล์รูปร่างยาวปลายเรียว มีผนังเซลล์หนามี
ความยาวเหนียวและแข็งแรง แทรกอยู่ในไซเลม


ภาพที่ 1-13 แสดงไซเลม ชนิดไฟเบอร์ (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2548)
ที่มา : http://student.nu.ac.th/cherrycoke/lesson6.htm


3) เทรคีด (Tracheid) เป็นเซลล์ยาวผนังหนามีลิกนินสะสมอยู่มาก
ที่ผนังเซลล์ ส่วนใหญ่มักมีส่วนบาง ๆ เป็นระยะ เรียกว่า เซลล์มีรู (Pit) ซึ่งไม่มีลิกนิน
สะสม เซลล์มีรูเป็นบริเวณที่น้ำผ่านจากเทรคีดของเซลล์หนึ่งไปอีกเซลล์หนึ่ง ปลายสุด
ของเซลล์มักแหลม เซลล์เมื่อโตเต็มที่แล้วมักจะตายโพรโทพลาซึมสลายไปทำให้เกิด
เป็นช่อง (Lumen) ตรงกลาง เซลล์มีรูปร่างทรงกระบอกหรือเป็นสี่เหลี่ยม พบมาก
ในพวกเฟิร์นและจิมโนสเปิร์ม ในพืชดอกมีจำนวนน้อยกว่ามาก และไม่พบในพวกมอส
เทรคีดมีหน้าที่ลำเลียงน้ำและแร่ธาตุ และยังสามารถส่งออกไปทางด้านข้าง
โดยผ่านเซลล์มีรู การลำเลียง จะเกิดได้ดีต่อเมื่อเซลล์ตายแล้ว เนื่องจากเทรคีด มีความ
แข็งแรงจึงช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับส่วนของพืชที่มีเซลล์ชนิดนี้อยู่


ภาพที่ 1-14 แสดงไซเลม ชนิด เทรคีด (Armstrong, W. P., 2006)
ที่มา : http://waynesword.palomar.edu/trjun

5) เวสเซล อีลีเมนต์ (Vessel element) เป็นเซลล์ที่มีลักษณะคล้าย
เทรคีด คือ เมื่อเซลล์โตเต็มที่แล้วจะตายไป โพรโทพลาซึมตรงกลางจะสลายไป
กลายเป็นช่อง (Lumen) ใหญ่ เซลล์มีผนังหนา เพราะมีลิกนินสะสมเช่นเดียวกับเทรคีด
และเซลล์มีรูเช่นเดียวกับเทรคีด เซลล์มีขนาดใหญ่แต่สั้นกว่าเทรคีด ปลายทั้งสองของ
เซลล์ตัดเฉียงและมีรูพรุน (Perforation) เวสเซล อีลีเมนต์จะมาเรียงซ้อนกันโดยต่อกัน
เป็นท่อเรียกว่า เวสเซล (Vessel) ที่มีผนังด้านข้างหนาและแข็งแรงมาก เพื่อทำหน้าที่
ลำเลียงน้ำและแร่ธาตุ เช่นเดียวกับเทรคีด

ภาพที่ 1-15 แสดง ไซเลม ชนิดเวสเซลอีลีเมนต์ (Armstrong, W.P., 2006)
ที่มา : http://waynesword.palomar.edu/trjune99.htm

โฟลเอ็ม (Phloem)
โฟลเอ็มทำหน้าที่ลำเลียงอาหารหรืออินทรีย์สารจากใบไปยังส่วนต่าง ๆ
ของพืช การลำเลียงน้ำทางโฟลเอ็มเรียกว่า ทรานสโลเคชัน (Translocation)
โฟลเอ็มประกอบด้วยเซลล์ 4 ชนิดคือ
1) เซลล์พาเรงคิมา (Parenchyma) มีอยู่ในกลุ่มของโฟลเอม
เช่นเดียวกับไซเลม

2) ไฟเบอร์ (Fiber) เป็นเส้นใยช่วยทำให้โฟลเอ็มแข็งแรง

3) ซีฟทิวบ์เมมเบอร์ (Sieve tube member) เป็นเซลล์ที่ยังมีชีวิต
รูปร่างยาวทรงกระบอก ด้านสุดปลายทั้งสองของเซลล์มีลักษณะตัดเฉียงบริเวณนี้มี
แผ่นที่มีรูพรุนอยู่ด้วยเรียกว่า ซีฟเพลต (Sieve plate) ในตอนที่เกิดใหม่ซีฟทิวบ์มี
นิวเคลียส แต่เมื่อเจริญเต็มที่แล้วนิวเคลียสและออร์แกเนลล์อื่น ๆ สลายไป แต่เซลล์
ยังมีชีวิตอยู่
(ท่อของไซเลม คือ เทรคีดและเวสเซล ขณะที่ทำหน้าที่ลำเลียง เป็นเซลล์
ที่ตายแล้วแต่ท่อของโฟลเอ็มคือ ซีฟทิวบ์เป็นเซลล์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ถึงแม้จะไม่มีนิวเคลียส
แล้วก็ตาม)
ซีฟทิวบ์เมมเบอร์แต่ละเซลล์จะมาเรียงต่อกันเป็นท่อยาว เรียกว่า ซีฟทิวบ์
(Sieve tube) ซึ่งทำหน้าที่เป็นท่อลำเลียงอาหาร

4) คอมพาเนียนเซลล์ (Companion cell) เป็นเซลล์ขนาดเล็กอยู่ติดกับ
ซีฟทิวบ์เมมเบอร์ ความจริงทั้งซีฟทิวบ์เมมเบอร์และคอมพาเนียนเซลล์นั้นเกิดมาจาก
เซลล์ เดียวกัน เมื่อแบ่งเซลล์ได้เซลล์ใหม่ 2 เซลล์ เซลล์หนึ่งจะเปลี่ยนเป็น
ซีฟทิวบ์เมมเบอร์ อีกเซลล์หนึ่งเป็นคอมพาเนียนเซลล์ ซีฟทิวบ์เมมเบอร์อาจมี
คอมพาเนียนเซลล์เพียง 1 หรือมากกว่า 1 ก็ได้อยู่ข้าง ๆ ทำหน้าที่ช่วยเหลือ
ซีฟทิวบ์เมมเบอร์ ซึ่งไม่มีนิวเคลียสแล้ว เช่น ช่วยขนส่งน้ำตาลเข้ามาในซีฟทิวบ์เมมเบอร์
เพื่อส่งไปยังส่วนต่างๆ ของพืช และช่วยสร้างเอ็นไซม์ หรือสารอื่นให้กับ
ซีฟทิวบ์เมมเบอร์


ภาพที่ 1-16 แสดงโฟลเอ็ม
(SparkNotes LLC, Plant Classification, Tracheophytes, 2006)
ที่มา : http://www.sparknotes.com/biology/plants/plantclassification/section2.rhtml







การจัดระเบียบของต้นพืช

การจัดระเบียบของต้นพืช

พืชมีท่อลำเลียง ประกอบด้วยระบบราก (Root System) และระบบยอด
(Shoot system) ระบบรากช่วยยึดต้นพืชไว้กับดินและซอนไซทะลุลงดิน เพื่อดูดซึมน้ำ
และแร่ธาตุ ระบบยอดประกอบด้วยลำต้นและใบ ลำต้นเป็นโครงร่างที่ให้ใบยึดเกาะ
ใบเป็นแหล่งอาหารโดยการสังเคราะห์ด้วยแสง



ภาพที่ 1-17 แสดงการจัดระเบียบของต้นพืชประกอบด้วยระบบรากและ
ระบบยอดซึ่งติดต่อกันด้วยเนื้อเยื่อลำเลียง (Progressive Gardens, 2005)
ที่มา : http://www.progressivegardens.com/knowledge_tree/plantoverall.jpg


                               ในพืชมีท่อลำเลียง เนื้อเยื่อจัดระเบียบกันเป็นระบบเนื้อเยื่อ (Tissue system)
ซึ่งประกอบด้วยระบบเนื้อเยื่อ 3 ชนิดคือ





1. ระบบเนื้อเยื่อพื้น (Ground tissue system) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเชิงเดี่ยว
(Simple tissue , เนื้อเยื่อที่ประกอบด้วยเซลล์ชนิดเดียว) 3 ชนิดคือ เนื้อเยื่อพาเรงคิมา
เซลล์คอลเลงคิมา และเซลล์สเกลอเรงคิมา ซึ่งประกอบด้วย เซลล์พาเรงคิมา และเซลล์
สเกลอเรงคิมาตามลำดับ ส่วนใหญ่ของต้นพืชประกอบด้วยเนื้อเยื่อระบบนี้ ทำหน้าที่
หลายอย่างรวมทั้งสังเคราะห์ด้วยแสง เก็บสะสมอาหารและให้ความแข็งแรงแก่ต้นพืช

2. ระบบเนื้อเยื่อลำเลียง (Vasscular tissue system) ประกอบด้วย เนื้อเยื่อ
เชิงซ้อน (Complex tissue , เนื้อเยื่อที่ประกอบด้วยเซลล์หลายชนิด) มี 2 ชนิดคือ
เนื้อเยื่อไซเลมและเนื้อเยื่อโฟลเอ็มที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำ และแร่ธาตุกับลำเลียง
สารอาหารซึ่งการลำเลียงจะติดต่อกันทั่วต้นพืช

3. ระบบเนื้อเยื่อผิว (Dermal tissue system) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่
ปกคลุมต้นพืช ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเชิงซ้อน 2 ชนิด คือ เอพิเดอร์มิส และเพริเดิร์ม (Periderm)
เนื้อเยื่อ เพริเดิร์มจะไปแทนที่ เอพิเดอร์มิส และเป็นเปลือกไม้ (Bark) ชั้นนอกของราก
และลำต้นที่แก่แล้ว





ภาพที่ 1-18 แสดงระบบเนื้อเยื่อพื้น ระบบเนื้อเยื่อลำเลียงและระบบเนื้อเยื่อผิว
ในส่วนต่าง ๆ ของพืช ทั้งใบ ลำต้น และราก
(สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2548, หน้า 50)